วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การให้การทางวาจา (Oral Hearings) ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)
ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505

       เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ขอให้ตีความคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 กรณีปราสาทพระวิหาร (กัมพูชาฟ้องร้องไทย)
      ในคำร้องนี้   กัมพูชาอ้างข้อ 60 ของธรรมนูญศาล ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา ศาลฯ จะตีความคำพิพากษาเมื่อมีการร้องขอโดยคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” และกัมพูชาอ้างข้อ 98 ของข้อบังคับศาลด้วย
      โดยการอ้างอิงข้อบทดังกล่าว กัมพูชาระบุในคำร้องของตนถึง “ประเด็นในข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา” ที่เป็นปัญหา กัมพูชากล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “(1) สำหรับกัมพูชา คำพิพากษา (ที่ตัดสินโดยศาลในปี ค.ศ. 1962) อยู่บนพื้นฐานของเส้นเขตแดนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดขึ้นและยอมรับโดยรัฐทั้งสอง (2) สำหรับกัมพูชา เส้นเขตแดนนั้นได้ถูกกำหนดโดยแผนที่ซึ่งศาลอ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษา ... แผนที่ซึ่งทำให้ศาลตัดสินว่าอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นผลโดยตรงและอัตโนมัติจากอธิปไตยของกัมพูชาเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่ (3) สำหรับกัมพูชา ไทยมีพันธกรณี (ตามคำพิพากษา) ที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่อื่นจากบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชา ... นี่เป็นพันธกรณีทั่วไปและต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากถ้อยแถลงเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนของกัมพูชา ซึ่งยอมรับโดยศาลในบริเวณนั้น” โดยกัมพูชาอ้างว่า “ไทยไม่เห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้ทั้งหมด”
      ในวันเดียวกันกับที่ยื่นคำร้อง กัมพูชายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวด้วย โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนและความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจชดเชยได้ ทั้งนี้ กัมพูชา “ร้องขอด้วยความเคารพยิ่งให้ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวระหว่างรอคำพิพากษา ดังต่อไปนี้
  • การถอนกำลังของฝ่ายไทยทั้งหมดออกจากดินแดนเหล่านั้นของกัมพูชาซึ่งอยู่ในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร
  • ห้ามกิจกรรมทางทหารทั้งหมดโดยไทยในพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร
  • ให้ไทยละเว้นจากการกระทำหรือการดำเนินการใดซึ่งอาจก้าวก่ายสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ข้อพิพาทในคดีหลักรุนแรงขึ้น
      การนั่งพิจารณาของศาลเกี่ยวกับคำขอให้กำหนดมาตรการชั่วคราวดังกล่าวได้มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 30 และอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554
      ระหว่างการนั่งพิจารณาของศาลดังกล่าว   ไทยได้ยืนยันว่าไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505   ทั้งนี้ ไทยไม่เคยโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ดังที่ยอมรับไว้ในวรรคแรกของข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ยิ่งไปกว่านั้นไทยอ้างด้วยว่า
      ไม่เคยโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ว่าไทยมีพันธกรณีที่ต้องถอนกำลังทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง เท่าที่กำลังเหล่านั้นอยู่ในดินแดนกัมพูชา ไทยโต้แย้งว่าพันธกรณี “ณ ขณะนั้น” ได้รับการปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนโดยไทยแล้วและไม่สามารถนำไปสู่คำพิพากษาตีความ และไทยยืนยันว่าด้วยเหตุนี้ ศาลจึงขาดอำนาจอย่างชัดเจนที่จะ “ตัดสินคำขอให้ตีความของกัมพูชา” และกำหนดมาตรการชั่วคราวดังที่ผู้ร้องขอ
      ในตอนท้ายของข้อสังเกตทางวาจารอบสอง   กัมพูชาได้ย้ำคำขอของตนให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราว ตัวแทนประเทศไทยจึงได้มีคำขอต่อไปนี้ในนามรัฐบาลไทย “ตามข้อ 60 ของข้อบังคับศาล และเมื่อพิจารณาคำขอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราว และคำร้องทางวาจา ของราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรไทยร้องขอต่อศาลด้วยความเคารพยิ่งให้จำหน่ายคดีที่ยื่นโดยราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 จากสารบบ”
      เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอให้มีการกำหนดมาตรการชั่วคราว ซึ่งยื่นโดยกัมพูชา ศาลให้ข้อสังเกตแต่แรกว่า “ในชั้นต้นดูเหมือนจะมีข้อพิพาท” ระหว่างคู่ความเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 และสรุปว่าศาลไม่อาจยอมทำตามคำร้องขอของไทยให้คดีที่เสนอโดยกัมพูชาถูกจำหน่ายออกจากสารบบ จากนั้นศาลได้กำหนดมาตรการชั่วคราวต่าง ๆ   ศาลตัดสินด้วยว่าคู่ความแต่ละฝ่ายควรแจ้งศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวเหล่านั้น และจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำขอให้ตีความ ศาลจะยังคงอำนาจในเรื่องซึ่งเป็นประเด็นแห่งคำสั่ง (ดูรายงานประจำปีของศาล ค.ศ. 2010-2011)
      ตามข้อ 98 วรรค 3 ของข้อบังคับศาล ศาลได้กำหนดวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 เป็นเวลาสิ้นสุดการเสนอข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไทยเกี่ยวกับคำขอให้ตีความที่ยื่นโดยกัมพูชา ข้อสังเกตเหล่านี้ได้ถูกยื่นภายในเวลาที่กำหนด
      นอกจากนี้ ตามข้อ 98 วรรค 4 ของข้อบังคับศาล ศาลได้ตัดสินใจที่จะให้โอกาสคู่ความที่จะยื่นคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Explanations) และได้กำหนดวันที่ 8 มีนาคม 2555 และ 21 มิถุนายน 2555 เป็นเวลาสิ้นสุดสำหรับการยื่นคำอธิบายดังกล่าวโดยกัมพูชาและโดยไทยตามลำดับเอกสารคำร้องดังกล่าวได้ถูกยื่นภายในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ตามข้อบทเดียวกัน ศาลได้ตัดสินใจที่จะให้โอกาสคู่ความที่จะมีการอธิบายเพิ่มเติมทางวาจา (Further Oral Explanations) ตารางเวลาของการนั่งพิจารณาที่ได้กำหนดขึ้น คือ